วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น รับสมัคพนักงานทั่วไป 147 อัตรา วุฒิ ม.3-ม.6-ปวช-ปวท-ปวส-ป.ตรี ตั้งแต่วันที่ 21-28 มิถุนายน 2559





สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น รับสมัคพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทั่วไป รายละเอียดดังนี้ ตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร 

1. พยาบาลวิชาชีพ ( จำนวน 15 อัตรา )
2. พนักงานช่วยการพยาบาล( จำนวน 14 อัตรา )
3. พนักงานช่วยเหลือคนไข้( จำนวน 11 อัตรา )
4. พนักงานเปล( จำนวน 4 อัตรา )
5. พี่เลี้ยง ( จำนวน 1 อัตรา )
6. นักวิชาการคอมพิวเตอร์( จำนวน 2 อัตรา )
7. เจ้าพนักงานเครื่องคอมพิวเตอร์( จำนวน 2 อัตรา )
8. นักโภชนาการ( จำนวน 2 อัตรา )
9. พนักงานประกอบอาหาร ( จำนวน 1 อัตรา )
10. เจ้าพนักงานธุรการ( จำนวน 1 อัตรา )
11. พนักงานพิมพ์ ( จำนวน 3 อัตรา )
12. พนักงานธุรการ ( จำนวน 1 อัตรา )
13. พนักงานบริการ( จำนวน 38 อัตรา )
14. เภสัชกร ( จำนวน 1 อัตรา )
15. เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข( จำนวน 6 อัตรา )
16. ผู้ช่วยทันตแพทย์( จำนวน 3 อัตรา )
17. เจ้าพนักงานสถิติ ( จำนวน 1 อัตรา )
18. เจ้าพนักงานเวชสถิติ ( จำนวน 1 อัตรา )
19. นักวิชาการสาธารณสุข ( จำนวน 2 อัตรา )
20. เจ้าพนักงานสาธารณสุข ( จำนวน 20 อัตรา )
21. ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่อนามัย( จำนวน 2 อัตรา )
22. นักเทคนิคการแพทย์( จำนวน 2 อัตรา )
23. ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด( จำนวน 1 อัตรา )
24. เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี ( จำนวน 3 อัตรา )
25. พนักงานการเงินและบัญชี( จำนวน 1 อัตรา )
26. เจ้าพนักงานการพัสดุ ( จำนวน 1 อัตรา )
27. ช่างฝีมือทั่วไป ( จำนวน 1 อัตรา )
28. นายช่างเทคนิค( จำนวน 4 อัตรา )
29. ช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ( จำนวน 2 อัตรา )
30. นายช่างศิลป์ ( จำนวน 1 อัตรา )


วิธีสมัคร : ขอและยื่นใบสมัครด้วยตนเอง สถานที่รับสมัคร : งานการบริหารงานบุคคล กลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น วันที่เปิดรับสมัคร : 21 - 28 มิถุนายน 2559

 รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและเลือกสรรเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทั่วไป

                             ___________________________________

จำหน่ายแนวข้อสอบสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 


สนใจสั่งซื้อมาที่ โทร 062-9099994      Line : 0629099994
-แบบไฟล์ PDF (ส่งทางเมลล์) นำไปปริ้นอ่านได้เลย ราคา 399 บาท 
-แบบหนังสือ+MP3 ส่งEMS (ทางไปรษณีย์) ราคา 799 บาท 

กรุณาชำระค่าสินค้าและบริการ
ธ.กรุงไทย เลขที่บัญชี 983-0-97701-3 
ธ.กสิกรไทย เลขที่บัญชี 549-2-17930-4 
(ชื่อบัญชี ปาณิสรา พระกาย ออมทรัพย์ สาขามหาวิทยาลัยขอนแก่น)                                                                                โอนเงินแล้วแจ้ง 
โทร 062-9099994   หรือ  Line ID : 0629099994

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

WHO ยกย่อง “ไทย” เป็นชาติแรกในเอเชียที่ยุติการแพร่เชื้อเอชไอวีจาก “แม่สู่ลูก”

 เอเอฟพี - องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไทยเป็นชาติแรกในเอเชียที่สามารถยับยั้งการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญในการต่อสู้กับโรคร้ายชนิดนี้
       
       ประกาศของ WHO ในวันนี้ (8) ได้ยกย่องความสำเร็จที่โดดเด่นของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ซึ่งสามารถเปลี่ยนสังคมที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ให้กลายเป็นแบบอย่างของการแก้ไขวิกฤตสาธารณสุขด้านนี้อย่างได้ผล
       
       WHO ระบุว่า ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เชื้อเอชไอวีระบาดหนัก ถือเป็นชาติแรกที่ “สามารถยับยั้งการแพร่เชื้อไปสู่ประชากรอีกรุ่นหนึ่ง”
       
       เบลารุสและอาร์เมเนียก็ได้รับการประกาศว่าบรรลุเงื่อนไขทั้งหมดของ WHO ในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก แต่ทั้งสองประเทศมีอัตราการแพร่ระบาดน้อยกว่าไทย
       
       คิวบาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สามารถยุติการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก โดยได้รับการประกาศรับรองจาก WHO เมื่อเดือน ก.ค. ปี 2015
       
       องค์การอนามัยโลกชี้ว่า การที่ไทยได้ตรวจคัดกรอง และให้การรักษาพยาบาลฟรีถ้วนหน้าแก่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยับยั้งไม่ให้ไวรัสถูกถ่ายทอดไปสู่ประชากรรุ่นใหม่ๆ
       
       ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีมีโอกาสประมาณ 14-15% ที่จะส่งต่อเชื้อร้ายไปยังบุตร ระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอด หรือการให้นม
       
       การได้รับยาต้านเอชไอวี (antiretroviral drugs) ขณะตั้งครรภ์ช่วยลดโอกาสที่เชื้อจะแพร่สู่ทารกในครรภ์มารดาให้เหลือเพียง 1% เศษๆ
       
       เมื่อปี 2000 ไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่จ่ายยาต้านเอชไอวีให้แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่ติดเชื้อโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีระหว่างการตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ แม้ในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่สุดก็ตาม
       
       จากสถิติของรัฐบาลพบว่า จำนวนทารกที่ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แรกคลอดลดลงจาก 1,000 คนในปี 2000 เหลือเพียง 85 คนในปีที่แล้ว ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่ WHO จะประกาศว่าการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกได้ยุติลงแล้ว
       
       ทั้งนี้ WHO ได้พิจารณากรณีส่วนน้อยร่วมด้วย เนื่องจากการให้ยาต้านเอชไอวีไม่ได้มีผลป้องกันได้ 100%
       
       ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของไทย ซึ่งในอดีตเคยพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากถึง 100,000 คนในปี 1990 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคนเศษในอีก 3 ปีถัดมา โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากความเฟื่องฟูของธุรกิจค้าประเวณี
       
       โครงการแจกจ่ายถุงยางอนามัยฟรีในช่วงทศวรรษ 1990 และการที่ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงยาต้านเอชไอวีได้อย่างทั่วถึงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ช่วยให้การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีลดลงอย่างมาก และทำให้ไทยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ
       
       อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า ไทยยังมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีอีกประมาณ 500,000 คนในปัจจุบัน และอัตราการแพร่ระบาดก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย
       
       นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “ความสำเร็จของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก นับเป็นความสำเร็จของทุกคน ทุกองค์กร และหน่วยงานภาคี ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายชาวไทยเท่านั้น แต่กับแม่และเด็กทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย ทุกคนมีสิทธิได้รับการบริการอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี เรายังคงมีความท้าทายอยู่คือ จะทำอย่างไรให้ความสำเร็จในวันนี้ยั่งยืนต่อไป และปัจจัยที่จะนำเราไปถึงจุดนั้นได้ คือความเป็นผู้นำ การจัดการที่มีประสิทธิภาพ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน และนโยบายรัฐบาลที่เข็มแข็ง”
       
       ในแต่ละปี จะมีผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีตั้งครรภ์ประมาณ 1.4 ล้านคน
       
       สถิติทารกที่เกิดมาพร้อมกับเชื้อเอชไอวี 400,000 คนในปี 2009 ลดลงมาเหลือเพียง 240,000 คนในปี 2013 


ที่มาของข่าว : www.manager.co.th

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สธ.เตือนประชาชนกินเนื้อหมูดิบเสี่ยงติดเชื้อไข้หูดับ ปีนี้ตายแล้ว 8 ราย

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนประชาชนที่ชอบรับประทานเนื้อหมูดิบ หรือปรุงดิบๆ สุกๆ มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อโรคไข้หูดับ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทุกแห่งเร่งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เพื่อลดป่วยและเสียชีวิต ส่วนใหญ่พบมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงฯ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนประชาชนที่ชอบรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงดิบ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบหมู หลู้ ส้าดิบ มีโอกาสที่จะเป็นโรคไข้หูดับ หูพิการถาวรทั้งสองข้าง โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 3 มิ.ย.59 พบผู้ป่วยแล้ว 122 ราย ใน 19 จังหวัด ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณร้อยละ 70 มีอาชีพรับจ้างและทำการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่ชอบดื่มสุราเป็นประจำ

"โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สเตร็บโตค็อกคัสซูอิส (Streptococcus suis)  โดยเชื้อจะไปทำลายอวัยวะภายใน และระบบประสาท ทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ ที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้งสองข้างอักเสบ และเสื่อมอย่างรุนแรง หูหนวกตลอดชีวิต และยังพบอาการเลือดออกใต้ผิวหนัง โดยจะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ3-5 วัน อาการที่พบบ่อยดังนี้คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียนคอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบ เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยมีอัตราเสียชีวิตได้ร้อยละ 5-20 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย เพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิต

สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับ คือผู้ที่สัมผัสกับสุกรที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อสุกร เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่  ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง  ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว โรคนี้รักษาหายขาดได้ ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศมีศักยภาพในการรักษา จึงขอแนะนำประชาชนที่มีอาการป่วยดังที่กล่าวมา หลังรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆดิบๆ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที

ส่วนการป้องกันการติดเชื้อไข้หูดับ ประชาชนทั่วไปควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่จำหน่ายข้างทางหรือร้านของป่า, ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ หรือเนื้อยุบ, ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกด้วยความร้อนนานอย่างน้อย 10 นาที หรือต้มจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่รับประทานเนื้อและเลือดหมูดิบ หรือดิบๆสุกๆ ถ้าหากสัมผัสกับเนื้อหมูนานๆ ควรรีบล้างมือทันทีในกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในเล้าหมู ฟาร์มหมู ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อผ้าที่รัดกุมระหว่างทำงานในเล้าหรือในฟาร์มหมู หลังปฏิบัติงานเสร็จให้อาบนำชำระร่างกายให้สะอาด ผู้ที่มีบาดแผลที่มือหรือที่เท้าควรหลีกเลียงการสัมผัสหมู หากจำเป็นต้องใส่ถุงมือยางป้องกัน ประการสำคัญห้ามนำหมูที่ป่วยตายมาชำแหละอย่างเด็ดขาด และหมั่นดูแลรักษาความสะอาดฟาร์มเลี้ยงหรือเล้าให้สะอาด

--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม โทร.02-2535000 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--

ที่มาของข่าว www.ryt9.com

'กรมสุขภาพจิต' ผวาคนเหนือฆ่าตัวตายพุ่ง

น.พ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ นำเสนอปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทย เพื่อสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการฆ่าตัวตาย รวมถึงแนวทางการป้องกัน ภายในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 15 และประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 13 จัดโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายทั่วโลกว่า ในช่วง 20-30 ปีนี้ โรคมะเร็ง หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่เป็นสาเหตุทำให้มีการเสียชีวิตสูงจะลดความรุนแรงลง เนื่องจากความรู้ทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า แต่ปัญหาสุขภาพจิตและการทำร้ายตัวเองจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน สำหรับประเทศไทย การคาดการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะผู้คนในสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการรักษาสุขภาพจิตมากเท่ากับการรักษาสุขภาพกาย

ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556-2558 จังหวัดในภาคเหนือ ยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น ทั้งนี้ ในปี 2558 พบว่า ช่วงอายุ 30-54 ปี มีการฆ่าตัวตายมากกว่าช่วงอายุอื่น โดยเฉพาะช่วงอายุ 35-39 ปี มีการฆ่าตัวตายสูงสุด เพศชายยังคงฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญนำไปสู่การฆ่าตัวตายมีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัยที่ควรร่วมมือกันเฝ้าระวังและป้องกันอย่างจริงจัง ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ เช่น การน้อยใจ ถูกดุด่า โดนตำหนิ ทะเลาะกับคนใกล้ชิด หุนหันพลันแล่น ถูกนอกใจ อกหักรักคุด รวมไปถึงมีปัญหาติดสุรา ยาเสพติด ทรมานจากโรคเรื้อรัง เป็นโรคจิต โรคซึมเศร้าอยู่เดิม เคยทำร้ายตัวเองมาก่อน ตลอดจนมีปัญหาเศรษฐกิจ ยากจน ขัดสน เงินไม่พอใช้ เสียทรัพย์จากการพนัน เป็นต้น

"ขอย้ำว่าการฆ่าตัวตาย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยซึ่งอยากให้มองว่าการฆ่าตัวตาย เป็นเหมือนโรคๆ หนึ่ง ที่รักษาได้ และป้องกันได้ ด้วยความร่วมมือจากทุกคน ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ได้กำหนดมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายให้ประเทศทั่วโลกได้ยึดถือปฏิบัติ กำหนดเป้าหมายร่วมกันที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละประเทศ ให้ลดลงจากเดิม10%ภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ไม่เกิน 6.5 ต่อแสนประชากร" น.พ.ประภาส กล่าว

ด้าน น.พ.ปทานนท์ ขวัญสนิท จิตแพทย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังถูกภัยร้ายนี้คุกคาม แต่ทั่วโลกเองก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน เพราะการมองข้ามความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิต ที่เห็นได้จากงบลงทุนในการดูแลสุขภาพจิตทั่วโลก มีเพียงร้อยละ 2.8 และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเพียงร้อยละ 0.44 อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อัตราการฆ่าตัวตายของไทยยังจัดอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ การแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายที่สำคัญ คือ ต้องขับเคลื่อนด้วยผู้กำหนดนโยบายอย่างจริงจังพร้อมมีข้อมูลหลักฐานวิชาการที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขับเคลื่อนไปได้

พ.ต.ท.หญิง พ.ญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์ประจำกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.ตำรวจและอดีตรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ความจริงแล้ว อัตราการฆ่าตัวตายของข้าราชการตำรวจไม่ได้สูงกว่าอาชีพอื่นเลย แต่ด้วยอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จที่สูงกว่าคนทั่วไปถึง 2-3 เท่า ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงกว่าอาชีพอื่น เนื่องจากมีอาวุธปืนในครอบครองนั่นเอง การที่มีอัตราการปลิดชีพตัวเองสูงมีสาเหตุจากลักษณะงานที่มีความเสี่ยงสูง ภาระงานมาก มีปัญหาด้านการเงิน ภาระหนี้สิน ส่งผลให้เกิดความเครียด รวมทั้งยังพบว่าบางรายมีอาการทางจิตและโรคซึมเศร้า ยิ่งกว่านั้น สังคมภายนอกยังมองตำรวจในแง่ลบมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือ ชนวนที่นำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย

ที่มาของข่าว www.ryt9.com


สธ.จัดระเบียบโอพีดีทุกโรงพยาบาลเป็นเหมือนห้องรับแขก

น.พ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลทุกระดับเป็นด่านหน้ารับผู้ป่วย เปรียบเสมือนเป็นห้องรับแขกในบ้าน ต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน 4 ส. คือ สะอาด สะดวก สบาย สวยงาม ให้ผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลมีความพึงพอใจ สามารถเข้ารับบริการที่จุดต่างๆ ได้ลื่นไหลไปตามขั้นตอน ศ.คลินิก เกียรติคุณ น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยให้ โรงพยาบาลทุกแห่ง จัดทำโครงการพัฒนาโรงพยาบาลในระบบคิวเอสซีด้วยความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทุกคน ร่วมปรับปรุงสภาพแวดล้อม และบรรยากาศในการทำงานให้สดใสใน 3 ด้าน คือ คุณภาพ บริการ และความสะอาด โดยมีรายละเอียดการดำเนินงาน ดังนี้ 1.ด้านคุณภาพ ได้แก่ จัดทำผังหรือช่องทางการยื่นบัตรและการรอคิวที่เป็นระบบ มีขั้นตอนให้ผู้รับบริการและญาติรับทราบอย่างชัดเจน จัดทำระบบประชาสัมพันธ์ ให้การต้อนรับ ให้ข้อมูล พร้อมจิตอาสาดูแลให้บริการและอำนวยความสะดวกแก้ปัญหาทุกจุดบริการ มีป้ายชื่อความหมาย ป้ายบอกทางอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม มองเห็นได้อย่างชัดเจน และจัดห้องบริการให้คำปรึกษาพร้อมเจ้าหน้าที่ประจำ

2.ด้านบริการได้แก่ มีช่องทางการตรวจในแผนกผู้ป่วยนอก ที่ลื่นไหลและรวดเร็ว จัดบริเวณที่นั่งรอตรวจให้เพียงพอต่อผู้รับบริการและญาติ และสะดวกสบาย ร่มรื่น ปลอดภัย จัดให้มีสัญลักษณ์ที่เด่นชัด ในช่องทางการเดินเชื่อมระหว่างตึกของการให้บริการ จัดมุมพักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้ป่วยและญาติ จัดให้มีร้านกาแฟ ร้านอาหาร สหกรณ์ร้านค้า บริการผู้ป่วยและญาติ 3.ด้านความสะอาด ได้แก่ การดำเนินการกิจกรรม 5 ส. มาตรการ 3 ก. ในโรงพยาบาลทุกวันศุกร์เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการส้วมสะอาด ปลอดภัย ปราศจากโรค เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง (ห้องน้ำสะอาด สวยงาม) มีบริการตู้น้ำดื่มสะอาดที่เป็นระเบียบ สวยงาม และมีแม่บ้านคอยดูแลความสะอาดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ปรับปรุงตึก อาคาร สิ่งก่อสร้างภายในให้สีสันสวยงาม ดูสะอาด สวยงาม สดใส ภูมิสถาปัตย์ แสง สี เสียง สวนหย่อม สวยงาม ปลอดภัย

ทั้งนี้ จะตรวจประเมินผลโรงพยาบาลทุกแห่งในเดือนสิงหาคม 2559 และมอบรางวัลโรงพยาบาลคุณภาพ สะอาด สะดวกมาตรฐานคิวเอสซี ในที่ประชุมวิชาการประจำปีกระทรวงสาธารณสุข 2559 เดือนกันยายน 2559 นี้

ที่มาของข่าว www.ryt9.com 

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ขรก.สธ.ร้องเกณฑ์ ก.พ.ไม่เป็นธรรม เยียวยาเฉพาะกลุ่ม ทำเงินเดือนเหลื่อมล้ำ

ข้าราชการ สธ.เตรียมเคลื่อนไหว หลังเกณฑ์ ก.พ.เยียวยาเงินเดือนข้าราชการทำวุ่นอีกครั้ง เหตุยังมีบางกลุ่มไม่เข้าเกณฑ์ตามที่ ก.พ.กำหนด ทำข้าราชการที่เข้ามาทีหลังเงินเดือนแซงรุ่นที่บรรจุก่อน ทั้งไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ที่เป็นธรรม ชี้ถูกเลือกปฏิบัติให้เยียวยาเฉพาะบางกลุ่ม เผยกลุ่มที่ตกสำรวจ คือ ข้าราชการ สธ.ในกลุ่มเปลี่ยนสายงาน กลุ่มข้าราชการที่ถูกบรรจุต่ำกว่าคุณวุฒิ กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้างไม่ถึงปี ซึ่งเคยเป็นลูกจ้าง และถูกลดเงินเดือนเมื่อเข้ารับการบรรจุรับราชการ
นายวัชรินทร์ คำมาเร็ว นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.เชียงม่วน จ.พะเยา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากหนังสือเวียนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ นร 1008.1/154 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ให้สิทธิกลุ่มพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราว ที่บรรจุเข้ารับราชการ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2555 ในส่วนราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของตำแหน่ง และสามารถนำอายุงาน ระยะเวลาปฏิบัติงานเป็นพนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราว มาประเมินเพื่อเลื่อนระดับที่สูงขึ้น
จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้าน อัตราเงินเดือนที่สูงกว่า และอายุงานเพื่อเลื่อนระดับ ต่อกลุ่มพนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวที่บรรจุเข้ารับราชการก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ยกตัวอย่างเช่น
1.ผู้บรรจุก่อน วันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ระดับชำนาญการ อายุงาน 10 ปี คุณวุฒิปริญญาตรี ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ได้รับเงินเดือน 18,400 บาท
2.ผู้บรรจุหลัง วันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ระดับปฏิบัติการ อายุงาน 4 ปี คุณวุฒิปริญญาตรี ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ได้รับเงินเดือน 24,450 บาท
ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา กลุ่มข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ที่เคยเป็นพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราว จึงได้ทำหนังสืออุทธรณ์ต่อกระทรวงสาธารณสุข และได้มีหนังสือเวียน ก.พ.ที่ นร 1008.1/138 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ให้ได้รับการเยียวยา นับอายุงานเพื่อเลื่อนระดับ และหนังสือ ที่ นร 1012.2/250 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558 โดยการเยียวยาให้ได้รับเงินเดือนดังนี้
1.กรณีพนักงานราชการ ให้ได้รับการปรับเงินเดือนเป็นอัตราใหม่ โดยนำอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/ว20 เป็นอัตราเริ่มต้น แล้วบวกกับผลรวมของจำนวนเงินที่ได้เลื่อนขณะเป็นพนักงานราชการ และผลรวมของจำนวนเงินที่ได้เลื่อนเงินเดือนขณะเป็นข้าราชการ
2.กรณีลูกจ้างชั่วคราว ให้ได้รับการปรับเงินเดือนเป็นอัตราใหม่ โดยนำอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/ว20 เป็นอัตราเริ่มต้น แล้วบวกกับจำนวนเงินจ้างที่ลดลงในวันที่รับการบรรจุเข้ารับราชการ (ส่วนต่างระหว่างอัตราจ้างสุดท้ายกับอัตราเดือนเดือนตามคุณวุฒิ ณ วันที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ) และผลรวมของจำนวนเงินที่ได้เลื่อนเงินเดือนขณะเป็นข้าราชการ
นายวัชรินทร์ กล่าวต่อว่า จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มคุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา ที่ดำรงตำแหน่งเดิม (ไม่เปลี่ยนสายงาน และทำงานต่อเนื่อง 1 ปีขึ้นไป) ได้รับการเยียวยาตามเกณฑ์ข้างต้น โดยให้ได้รับเงินเดือนใหม่ ได้สูงสุดของตำแหน่งที่ดำรงอยู่ (ขั้นต่ำระดับชำนาญการ คือ 39,690 บาท) เช่น ข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้าง และบรรจุใน ปี 2551 ระดับชำนาญการ เงินเดือนเดิม 19,380 บาท เมื่อได้รับการเยียวยาเงินเดือนใหม่ที่จะได้รับ 30,840 บาท ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 (ทำงานเป็นลูกจ้าง 2-3 ปี ได้ค่าต่างเงินเดือนอัตราจ้างสุดท้ายสูงถึง 7,000-8,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการต้องทำงานไม่น้อยกว่า 8-10 ปี)
และเป็นผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องอัตราเงินเดือนเป็นครั้งที่ 2 จากหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดตามหนังสือที่ นร 1008.1/154 และ นร 1012.2/250 ต่อข้าราชกลุ่มอื่นที่เคยเป็นลูกจ้าง เช่น กลุ่มข้าราชการที่เปลี่ยนสายงาน (ย้ายจากแท่งทั่วไปสู่แท่งวิชาการ) ข้าราชการที่ถูกบรรจุต่ำกว่าคุณวุฒิ ข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้างไม่ถึงปี เนื่องจากไม่เข้ากฎเกณฑ์ตามที่ ก.พ.กำหนด และไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ที่เป็นธรรม
“เท่ากับว่าได้ถูกเลือกปฏิบัติให้เยียวยาเฉพาะบางกลุ่ม อีกทั้งเกณฑ์เยียวยาจากหนังสือ ที่ นร 1008.1/154 และ นร 1012.2/250 ยังสร้างความเหลื่อมล้ำเงินเดือนข้าราชการ เงินเดือนแซงข้าราชการรุ่นพี่ เช่น กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นพนักงานของรัฐ โดยไม่คำนึงถึงความอาวุธโสของการรับราชการ ซึ่งเกณฑ์เยียวยาเงินเดือนที่ออกมา ควรมีความสมดุล ไม่เหลื่อมล้ำข้าราชการรุ่นพี่ แต่กลับทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเงินเดือนของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น” นายวัชรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ตัวแทนกลุ่มข้าราชการกลุ่มเปลี่ยนสายงาน ที่เคยเป็นลูกจ้างและพนักงานราชการ และบรรจุก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ไปยังไปยังกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 และเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 เพื่อรวบรวมหนังสือส่ง สำนักงาน ก.พ. ต่อไป เพื่อพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ที่สร้างความเหลื่อมล้ำนี้
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ก.พ.ควรเยียวยาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จากหนังสือ นร 1008.1/154 ให้เป็นธรรม เช่น กลุ่มข้าราชการกลุ่มเปลี่ยนสายงาน กลุ่มข้าราชการที่ถูกบรรจุต่ำกว่าคุณวุฒิ กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้างไม่ถึงปี ซึ่งเคยเป็นลูกจ้าง และถูกลดเงินเดือนเมื่อเข้ารับการบรรจุรับราชการเช่นกัน
“ดังนั้นขอให้ข้าราชการผู้เปลี่ยนสายงาน หรือข้าราชการกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ตนเองสังกัด และทางกลุ่มจะเตรียมเข้าหารือผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระบบเงินเดือนข้าราชการในครั้งนี้ ให้เกิดความยุติธรรม เสมอภาค และเท่าเทียมกันทั้งระบบต่อไป” นายวัชรินทร์ กล่าว  


ที่มาของข่าว www.hfocus.org



วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เตรียมปล่อย'ยุงลายหมัน'พื้นที่ทดลอง 4 มิ.ย.

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความคืบหน้างานวิจัยการทำหมันยุงลายตัวผู้ 2 ขั้นตอน ซึ่งจะมีการนำร่องปล่อยออกสู่ธรรมชาติในพื้นที่ทดลอง ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ในช่วง มิ.ย.นี้ เพื่อช่วยลดปริมาณลูกน้ำยุงลาย และไข้เลือดออก โดยร่วมกับกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ขณะนี้ทีมวิจัยได้ลงไปเตรียมพื้นที่ทดลองและทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่มีกลุ่มเอ็นจีโอบางกลุ่มห่วงว่าการปล่อยยุงลายตัวผู้ที่เป็นหมันดังกล่าวจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมก็ได้อธิบายทำความเข้าใจชัดเจนแล้วว่า ยุงลายตัวผู้นั้นไม่ดูดเลือดคน แต่กินน้ำหวาน ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ ที่สำคัญคือ ผ่านการทำให้เป็นหมัน 2 ขั้นตอน ทำให้สามารถควบคุมปริมาณลูกน้ำยุงลายได้ ซึ่งหลังจากปล่อยยุงลายตัวผู้ก็จะมีการติดตามผลการวิจัยว่าสามารถช่วยลดปริมาณลูกน้ำยุงลายได้จริงหรือไม่

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า การดำเนินการปล่อยยุงลายตัวผู้ที่เป็นหมันในพื้นที่ทดลอง คาดว่าจะปล่อยออกสู่ธรรมชาติในวันที่ 4 มิ.ย.59 นำโดยทีมวิจัย และ น.พ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งจะปล่อยยุงลายที่เป็นหมันจำนวน 10 เท่า ของปริมาณยุงที่คาดการณ์ไว้ และจะมีการติดตามผลการดำเนินการเป็นเวลา 6 เดือน โดยมีการติดตามทุกสัปดาห์ว่าปริมาณลูกน้ำยุงลายลดลงหรือไม่ และสถิติการป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยได้มีการลงไปควบคุมปริมาณ

ยุงลายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเก็บข้อมูลสถิติจำนวนลูกน้ำยุงลาย และอัตราการป่วยโรคไข้เลือดออกไว้แล้ว

"ผมได้มีโอกาสหารือกับ น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านก็เห็นด้วยกับการดำเนินการมาตรการควบคุมยุงลาย

และไข้เลือดออก โดยท่านคิดว่าหากพื้นที่ทดลองนั้นประสบความสำเร็จ สามารถควบคุมปริมาณลูกน้ำยุงลาย ยุงลาย และลดการป่วยโรคไข้เลือดออกลงได้สำเร็จ ก็จะมีการขยายผลนำไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและลดการระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะลง" อธิการบดี ม.มหิดล กล่าว

ที่มาของข่าว www.ryt9.com

ภาคียาสูบโต้ร่างพ.ร.บ.ยาสูบใหม่กระทบชาวไร่

จากการที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ว่า ไม่มีผลกระทบกับชาวไร่และหน่วยงานต่อต้านบุหรี่ โดยได้ผลิตสื่อเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียชี้แจงสิ่งที่ชาวไร่ทำได้หลังจากร่างกฎหมายควบคุมยาสูบฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้วนั้น

นายกฤษณ์ ผาทอง นายกสมาคมผู้เพาะปลูก ผู้บ่มและผู้ค้าใบยาสูบ จ.เชียงใหม่ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศกว่า 40,000 ครัวเรือน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ฝ่ายรณรงค์เร่งผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เลือกที่สื่อสารข้อมูลเพียงด้านเดียว เน้นการทำการประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายของตัวเองและสื่อสารแต่เพียงว่า กฎหมายนี้ไม่มีผลกระทบต่อชาวไร่ หรือชาวไร่ยังปลูกใบยาได้เหมือนเดิม แต่ไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของร่างกฎหมายสุดโต่งฉบับนี้ ทั้งที่เนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้มีปัญหาหลายประการ เป็นการผลักดันวาระของคนกลุ่มเดียวที่มีอคติต่ออุตสาหกรรมยาสูบและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ด้านกลุ่มผู้ค้าปลีกยาสูบขนาดเล็ก (โชห่วย) นำโดยนางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย ที่มีสมาชิกโชห่วยที่ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบทั่วประเทศ 1,300 ราย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีข้อห้ามอีกมากมายที่จะกระทบกับธุรกิจร้านค้าขนาดเล็กซึ่งมีกว่า 870,000 รายทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่เฉพาะกลุ่มชาวไร่ที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรม โดยที่ข้อห้ามเหล่านั้นทางฝ่ายรณรงค์ก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการลดจำนวนผู้สูบได้อย่างไร


ที่มาของข่าว www.ryt9.com

มูลนิธิโรคไตฯ ประสบความสำเร็จปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยจำนวน 618 รายในโครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ศ.กิตติคุณ นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จของการจัด “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” โดยภายใน 1 ปี มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้ว จำนวน 618 ราย สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการปลูกถ่ายไตมากขึ้น และยังช่วยส่งเสริมให้มีการบริจาคไตเพิ่มมากขึ้นสนับสนุนให้หน่วยงานและสถาบันการแพทย์จัดตั้งและดำเนินงานโครงการปลูกถ่ายไตให้มีคุณภาพ เพิ่มมากขึ้นด้วย ณ ห้องประชุมสลากกินแบ่งรัฐบาล ชั้น 9 ตึกกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์

ที่มาของข่าว www.ryt9.com

ติวเข้มบังคับใช้ กม.สปา สอดส่องแฝงธุรกิจสีเทา

เมื่อวันที่ วันที่ 31 พ.ค.59 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ น.พ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานสัมมนาชี้แจง "พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559" ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ก.ย.59 แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล 88 สถานี และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลทั้ง 50 เขตของ กทม. เพื่อควบคุม กำกับ มาตรฐาน สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ได้แก่ สปา นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมสวย ว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากนับหมื่นแห่ง เนื่องจากกระแสความนิยมการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เฉพาะสปาอย่างเดียว ในปี 2558 สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 31,000 ล้านบาท ขณะนี้มีสถานประกอบการฯ ที่ขึ้นทะเบียนมาตรฐานกับ สบส.เพียง 1,605 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าเมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้จะมี ผู้ประกอบรายใหม่ขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 แห่ง

น.พ.ธงชัย กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ามีธุรกิจบริการแอบแฝงที่นำชื่อสปา นวดเพื่อสุขภาพและเสริมสวย ไปใช้ หรือเรียกว่าธุรกิจสีเทา อาทิ สปาพริตตี้ สปาเกย์ ลักลอบให้บริการทางเพศ และมีการโฆษณาทางเว็บไซต์ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ จึงขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจและ กทม. ให้ตรวจเข้มสถานประกอบการ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดมาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจะต้องมีใบรับรอง และสัญลักษณ์มาตรฐาน สบส.ติดในที่เปิดเผยเห็นได้ชัดเจน มีป้ายชื่อสถานประกอบการฯ ตรงกับประเภทกิจการ ไม่สื่อในทางล่อแหลมลามกอนาจาร ผู้ให้บริการต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และมีใบรับรองคุณวุฒิจากสถานศึกษาที่ สบส.ให้การรับรอง รวมทั้งกำหนดเวลาเปิด-ปิดอย่างชัดเจน โดยสปาและนวดเพื่อสุขภาพ เปิดบริการ 08.00-24.00 น. นวดเพื่อเสริมสวย เปิดบริการ 06.00-22.00 น. ห้ามให้บริการของมึนเมา สารเสพติด ค้าประเวณี หากตรวจพบว่าแห่งใดไม่ปฏิบัติตาม สามารถเอาผิดลงโทษตามกฎหมาย หากเป็นสถานประกอบการฯ เถื่อนมีโทษปิดทันที แต่หากมีใบอนุญาต สบส.จะเพิกถอนใบอนุญาตทันที